เกี่ยวกับโครงการวิจัย

รายได้หลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นไปประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปิดเสรีในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยองค์การท่องเที่ยวโลกหรือ World Tourism Organization ได้พยากรณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 คนทั่วโลกจะเดินทางท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดดถึง 1.6 พันล้านคน โดยเดินทางมายังเอเชียแปซิฟิกราว ๆ 400 ล้านคน และเข้ามาในอาเซียนราว160-200 ล้านคน ดังนั้นประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการหรือแนวทางเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นหนึ่งในมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว คือ การหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยนอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลักของประเทศไทยที่ถูกทำลายลงทุกวัน แหล่งท่องเที่ยวและธรรมชาติที่สวยงามเสื่อมโทรมลง เกิดปัญหามลพิษในด้านต่าง ๆ ความหนาแน่นของสถานที่พักซึ่งบดบังความสวยงามของธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต และพัทยา ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวปีละหลายล้านคน ธรรมชาติถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปและตลอดเวลา โดยที่ไม่มีโอกาสได้พักและฟื้นฟู
เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสการท่องเที่ยวชุมชน (Community Based Tourism: CBT) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเสนอและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความน่าสนใจ นอกจากนี้การท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวทางเลือกนี้สามารถทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรัพยากรการท่องเที่ยวในชุมชนที่มีอยู่จะได้รับการอนุรักษ์ให้มีความยั่งยืน และมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมและถูกหลักการ ตลอดจนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอีกด้วย ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการท่องเที่ยวชุมชนที่มีการจัดการที่ดี คือ ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ (Multi-Dimensions) อย่างยั่งยืนตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เป็นประโยชน์แก่การเรียนรู้ หรือเข้ามาเพื่อผ่อนคลาย การพัฒนาแนวคิด สุขภาพของนักท่องเที่ยว และเมื่อนักท่องเที่ยวกลับไปก็จะเกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกัน มิใช่เกิดรายได้แก่ชุมชนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และที่สำคัญการท่องเที่ยวชุมชนยังมีความเกี่ยวเนื่องกับการประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการและพัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจต่อชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จากนั้นจึงนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลในรูปแบบแผนที่เชิงเลข (Digital Map) ในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และทำการประเมินคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ต่อมาทำการเผยแพร่ข้อมูลและแผนที่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนผ่านทางเว็บไซต์ หรือ Web Map Services ซึ่งนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจสามารถทำการสืบค้นข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป และรูปภาพ รวมทั้งนักท่องเที่ยวสามารถค้นหาเส้นทางและรายละเอียดการเดินทางจากแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สนใจผ่าน Web Map Services ได้แก่ เส้นทาง ระยะทาง เวลาในการเดินทาง และแผนที่ ในส่วนที่สองเป็นการศึกษาและสำรวจพฤติกรรม ทัศนคติ และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการกำหนดมาตรการในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกทดแทนแหล่งท่องเที่ยวหลักในแต่ละจังหวัด
โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามมติคณะรัฐมนตรี
ดร.ณรงค์ พลีรักษ์
หัวหน้าโครงการ
สุเมธ สายสมุทร
ผู้ช่วยนักวิจัย
(นิสิต ป.โท)
โสภาวดี โชติกลาง
ผู้ช่วยนักวิจัย
(นิสิต ป.โท)
คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา narong_p@buu.ac.th